6 เรื่องเล่าการลงทุน ที่รู้แล้วต้องร้อง…



จากประสบการณ์การทำงานในฐานะ Fund Manager
มาครึ่งทศวรรษ พบกับนักลงทุนมากมายหลายประเภททั้งพอร์ทเล็กยันพอร์ทใหญ่ เพื่อนฝูงที่หลังจากที่ได้ทราบว่าเราย้ายจากวงการสถาปนิกมาสายการเงิน ก็แวะเวียนเข้ามาปรึกษาเรื่องการลงทุนก็มีไม่น้อย ยิ่งล่าสุดได้มีโอกาสนำเสนอผลงานต่อหน้าคนจำนวนมาก ทั้งเคยลงทุนและไม่เคยลงทุน มีคำถามหลายคำถามที่สะท้อนความเชื่อที่บางทีก็แปลกอยู่พอสมควร จึงจะขอใช้พื้นที่บนเพจ the nightwatch นี้ ในการค่อยเรียบเรียง เล่าสู่กันฟัง รวมถึงเผยวิธีการรับมือไว้ด้วย เผื่อว่า จะตรงใจและนำไปปรับใช้กันได้ครับ
1. “การลงทุนหมายถึงเล่นหุ้นไง ลุยเลย”
ประเด็นจากที่เคยเล่าเกี่ยวกับความเหมือนและความชอบ เล่นหวย เล่นหุ้นของชาวไทย คนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกแบบอัตโนมัติว่า การเข้าสู่โลกของการลงทุนขั้นแรกคือ การเปิดพอร์ตหุ้นกับมาร์สักคนหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วหากลองพิจารณาตามภาพประกอบ เราจะเห็นได้เลยว่า หุ้น หรือ Share คือประเภทสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ความเข้าใจและประสบการณ์การลงทุนค่อนข้างมาก หากจะคิดเริ่มประสบความสำเร็จ แต่ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนทำให้เราพอกระโดดหลุดออกมาจากออมทรัพย์ได้ ก็ลงหุ้นรายตัวเลย
วิธีการรับมือ
ศึกษาการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ให้ครบถ้วนดูก่อน ตั้งเป้าการค้นหา ไล่จากการจำกัดผลตอบแทนให้อยู่ในระดับ 2 – 3% ต่อปี ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ฉลาดมากแล้ว ท่องไว้เสมอว่า
การรักษาเงินต้นสำคัญที่สุด
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ อยากจะประลองเริ่มจากการดวลดาบก่อน อย่าเพิ่งเป็นสิงห์ดวลปืน ผิดพลาดอะไรมาจะได้ยังมีชีวิตรอดไปเขาเหลียงซานฝึกวิชาต่อ และกลับมาภาค 2 ได้
2. “ผลตอบแทนแบบง่ายๆ ปันผล 7% ต่อเดือน
หรือบางทีต่อสัปดาห์ มีจริงอยู่บนโลกใบนี้ ! อีกเช่นกันครับ ในรูปแบบนี้จะมาจากเพื่อนที่เผอิญถูกชักชวนเข้าก๊วนผลตอบแทนล่อใจ แต่ไม่แน่ใจเลยลองมาถามเราดู งั้นลองดูตัวเลขผลตอบแทนของสินทรัพย์สัดส่วนต่างๆตามภาพ จะพบได้ว่า อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปีของการลงทุนในหุ้นเต็มพอร์ทนั้นอยู่แค่ที่ระดับ 10.2 % เท่านั้น ยิ่งถ้าดูเฉพาะประเภทสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย อย่างเก่งก็จะได้กันอยู่ที่ 5.5% เท่านั้นเอง (ต่อปีนะครับ ย้ำ) และที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเลือกลงอะไร มีโอกาสขาดทุนด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น หากมีการชักชวนให้เราไปลงทุนหรือร่วมลงทุนกับอะไรบางอย่าง ที่ดูแล้วไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ให้ผลตอบแทนดีอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น ปันผลทุกเดือน ทุกสัปดาห์ เพิ่งเข้ามาลงทุนก็ได้ปันผลทันที ไม่ต้องรอ หรือ รับประกันผลตอบแทนและเงินต้น ฯลฯ เชื่อได้เลยว่าเป็นเรื่องโกหกทั้งเพครับ

ที่มา : The Vanguard Group’s Research > Link ข้อมูล
วิธีการรับมือ
พิจารณาเสมอว่า ของดีนั้น มีอยู่จริงบนโลก แต่โอกาสที่จะตกมาถึงมือคนธรรมดาอย่างเรามีน้อยมาก และครั้งนี้ก็เช่นกัน เราไม่โชคดีขนาดนั้นหรอกครับ ในหลายๆครั้ง พลังความโลภมักจะกล่อมประสาทเราให้เชื่อเรื่องที่ไม่น่าเชื่ออย่างง่ายดาย และหลงกลในที่สุด จงกลับไปสู่ตำราการลงทุนที่เคยตั้งใจเขียนไว้ซะ (ถ้ามี) อ่านข้อมูลจาก the nightwatch เพิ่มเติม ประสบการณ์คือของจริง เริ่มลงทุนอย่างเป็นระบบ และลืมโอกาสที่ไม่มีจริงนั้นซะ
3. “เล่นหุ้นได้กำไร = อิสรภาพทางการเงิน”
เป็นแนวความคิดของคนทุกรุ่นจริงๆ ครับ ต้องยอมรับ ไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิด แต่ต้องเข้าใจให้ครบ นักลงทุนที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการลงทุน หมายถึงการลงทุน เทรดหุ้นและนำกำไรมาดำรงชีวิตนั้น ผมพบว่ามีอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ภาพของความเป็นอิสระไม่ค่อยกล่าวถึงคือ “ความสม่ำเสมอ” ของการสร้างกำไรจากการลงทุน การทำกำไรได้จากตลาดต้องพิสูจน์ด้วยเวลาและเสถียรภาพของวิธีและเครื่องมือที่ใช้ด้วยเสมอ จากประสบการณ์ของผมมีคนที่จะกล่าวได้ว่า “มีโอกาส”ที่จะเป็นอิสรภาพทางการเงินจากการลงทุน มี 3 กลุ่ม
คนที่มีเงินก้อนสำหรับลงทุนที่ใหญ่พอ (สัก 10 ล้าน)เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่พอเป็นไปได้จากการลงทุนที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป (ปีละ 6% เดือนละ 50,000) และต้องเลือกหุ้นได้ อดทนได้ สายป่านยาวพอ
คนที่ลุ่มหลงกับการลงทุน ทุ่มเทกับการติดตามบริษัทอย่างบ้าคลั่ง Company Visit แบบเจาะลึก เฝ้าใต้โต๊ะผู้บริหาร หลับฝันละเมอเป็น Dicounted cashflow คนกลุ่มนี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้หลายเท่าตัว ปีละหลายร้อย % ก็มีเห็นกันบ่อย แต่แลกมาด้วยความขยันและความคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ
คนที่กล้าได้กล้าเสีย เข้าใกล้คำว่าบ้าบิ่น เลือกลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทที่มีความเสียงสูงมากๆ เพื่อต้องการ Big Gain กลุ่มนี้ใช้ความใจถึง วัดฝีมือ (หรือดวง) กับตลาดที่ผันผวน หลายครั้งมีโอกาสประสบความสำเร็จมีอิสรภาพทางการเงินได้รวดเร็วมากจนน่าอิจฉา แต่หลายครั้งก็ล้มหาย ออกจากตลาดไปก็เป็นไปได้เช่นกัน
บทสรุป
“ดังนั้นวิธีการรับมือ หากเราพิจารณาแล้วว่า เรายังไม่อยู่ในข่าย 3 กลุ่มนี้ หรือยังไม่พร้อมจะเป็น ผมคิดว่าเราควร เตรียมตัว พัฒนาศักยภาพของเราให้พร้อมที่จะเป็นผู้ที่มีอิสรภาพทางการเงินจากการลงทุน ทั้งในส่วนของวิธีการสร้างกำไร และเครื่องมือที่ช่วยให้กำไรนั้นได้มาอย่างสม่ำเสมอ”
Pingback: คนรุ่นใหม่อาจไม่มีวัยเกษียณ – LIEF Capital Asset Management