รู้จัก ETF เครื่องมือสำคัญในการจัดพอร์ตลงทุนต่างประเทศ



ในปัจจุบัน การลงทุนใน ETF เริ่มที่เป็นนิยมแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการกระจายเงินลงทุนไปต่างประเทศ โดยอาจเริ่มมาจากการลงทุนด้วย กองทุนรวมประเภท Feeder Fund ซึ่งมีทั้งจุดที่คล้ายและจุดที่ต่างกันกับ ETF ค่อนข้างมาก ลองมาเปรียบเทียบดูกัน ครับ

เริ่มต้นก่อนอื่น ETF
ย่อมาจาก Exchange Traded Fund แปลตรงตัวคือ กองทุนที่สามารถซื้อขายกันได้ในกระดานตลาดหลักทรัพย์ โดยได้รับความนิยมต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ETF ตัวแรกในตำนาน อย่าง SPDR ที่ลงทุนในดัชนี S&P500 เป็นต้น
ETF มีลักษณะเหมือนกองทุนทั่ว ๆ ไปที่เรารู้จักกันนั่นแหละครับ คือ มีผู้จัดการกองทุน มีนโยบายการลงทุน มี Fund Fact Sheet มีการเก็บค่าธรรมเนียม (ต่ำ) มีหน่วยงานกำกับดูแล มีบลจ.เป็นผู้ตั้งกองทุน พูดง่าย ๆ คือมีมืออาชีพดูแลให้ และมีระดับความน่าเชื่อถือระดับสูงในระดับเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างชัดเจนคือ การที่ ETF มีคุณสมบัติคือเอาหน่วยไปจดทะเบียนในตลาดให้นักลงทุนเคาะซ้ายขวา ได้ตามแรง Demand Supply ในตลาดเลย ไม่จำเป็นต้องรอลุ้น ราคา ณ สิ้นวันเหมือนกองทุนรวม
ข้อดีตรงนี้เกิดจากความแตกต่างในขั้นตอนที่ว่า สำหรับกองทุนรวม หากนักลงทุนต้องการขายหน่วย ก็ทำคำสั่งขายส่งไปยังบลจ (กองทุน) ผู้จัดการกองทุนจะทำการขายหลักทรัพย์ ”จริง” ตามสัดส่วนที่มีรายการขายเข้ามา เกิดธุรกรรมชึ้นจริง ขายได้ราคาไหน ค่อยเอากำไร ขาดทุนไปคำนวณเป็น NAV ณ สิ้นวัน แต่กรณี ETF หากนักลงทุนต้องการขาย ก็กดขายในกระดาน ตาม Bid Offer ได้เลย ซึ่งการขายนั้น เป็นการเปลี่ยนมือกันเองของหน่วยลงทุนระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น ผู้จัดการกองทุนไม่ต้องทำรายการขาย หลักทรัพย์แต่อย่างใด (ซึ่งหาก demand supply เกิดไม่สมดุลกันถึงจุดหนึ่ง จะมีกระบวนการ Creation / Redemption ปรับจำนวนในตลาดให้อีกที) ความแตกต่างแค่นี้เองที่ทำให้ ETF มีข้อดีมากมาย เมื่อเทียบกับกองทุนรวม สรุปได้ดังนี้
1.กระจายการลงทุนแบบ Passive ได้ดี
ภายใน ETF ตัวหนึ่งนั้น คือกองทุนดีๆนี่เอง มีบริษัทจัดการและผู้จัดการกองทุน เพียงแต่ว่าเลือกกระจายการลงทุนให้สะท้อนดัชนี กลุ่มอุตสาหกรรม หรือกลุ่มประเทศตามนโยบายในลักษณะ Passive Investment เปรียบง่ายๆ สมมติเหมือนถ้าเราอยากลงทุนให้ได้ผลตอบแทนของหุ้น SET50 ก็สามารถทำได้ผ่านการซื้อหุ้นเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น
2.บริหารต้นทุนได้
เพราะซื้อขายได้บนกระดาน เหมือนหุ้น ไม่เพียงแค่นั้น เรายังสามารถซื้อขายได้ภายในวันบนกระดาน ไม่ต้องรอทีเดียวสิ้นวันเหมือนกองทุน > ข้อดีอันนี้ทำให้นักลงทุน หรือแม้แต่ผู้จัดการกองทุนเอง สามารถปรับพอร์ตได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปภายในวันนั้น
3.ค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำ
ค่าคอมมิชชั่นเหมือนซื้อขายหุ้นตัวนึงแต่ได้โอกาสผลตอบแทนเหมือนกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมการขายและการจัดการสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ
4.เหนือกว่าเพราะได้รับยกเว้นภาษี Capital Gain
อันนี้ส่วนของ US Investor เพราะ ETF ถูกมองว่าการซื้อขายเป็นการแลกเปลี่ยนของกันระหว่างผู้ลงทุนเอง(In kind) ไม่เกิดกำไรจากการขาย จึงไม่เกิดภาระทางภาษี แต่กองทุนรวมเมื่อนักลงทุนทำการ Redeem ผู้จัดการกองทุนต้องขายหลักทรัพย์ในกองทุนในตลาดจริง เพื่อให้ได้เงินออกมาคืนผู้ถือหน่วย ดังนั้นจึงเข้าเงื่อนไขทางภาษีกำไรจากการขายหุ้น (ส่วนประเทศไหนจะเก็บเท่าไหร่ ยกเว้นก็แล้วแต่ข้อกฏหมาย)
5.เครื่องมือช่วย เปิดประตูการลงทุน
ทั้งในแง่ของกลุ่มสินทรัพย์และโอกาสสร้างผลตอบแทนตลาดขาลง ในส่วนของการช่วยให้นักลงทุนหรือ Fund Manager สามารถเลือกกลุ่มประเทศ ภูมิภาค หรือกลุ่มอุตสาหกรรมในบางภูมิภาคเป็นข้อดีของการเลือกใช้ ETF ได้อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว โดยปกติผู้จัดการกองทุนจะถูกกำหนดกรอบด้วยนโยบายกองทุน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะห้ามมิให้มีการลงทุนในอนุพันธ์เพื่อการเก็งกำไร แต่สามารถทำได้เพื่อการป้องกันความเสี่ยงขาลงเท่านั้น ซึ่งเข้าใจได้เพราะไม่ต้องการให้กองทุนมีสถานะเกินวงเงินลงทุนจริง (Leverage/Margin trading) เป็นการจำกัดความเสี่ยงของกองทุนไปในตัว แต่ในตลาดมี ETF ที่สามารถตอบโจทย์ตลาดขาลงได้ โดยมีกลไลภายในที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากดัชนีปรับตัวลงได้ ทำให้ Fund Manager สามารถดำเนินกลยุทธ์ได้เหมาะสมมากขึ้น แต่ไม่ใช่ในลักษณะของ Leverage สามารถดูตัวอย่างได้ที่ http://www.proshares.com/funds/sqqq.html
6.มีความคล่องตัวสูง เมื่อเทียบกับ Mutual Fund
หากลองพิจารณาการจัดพอร์ตการลงทุนในกองทุนรวม FIF เมื่อเราต้องการปรับพอร์ตเช่น ขายยุโรปไปซื้อญี่ปุ่น เราอาจต้องรอกว่าหนึ่งสัปดาห์กว่าจะได้เงินและนำไปลงทุนต่อ ทำให้บางครั้งอาจพลาดโอกาสการลงทุนสำคัญ โดยเฉพาะในโลกที่มีความผันผวนมากขึ้นระดับรายวัน แต่หากเป็น ETF ที่ซื้อขายกันในตลาดทุกวันแล้วละก็ แปลว่าท่านสามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้ภายในวันทำการเดียว ทำให้การบริหารเงินลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน

1.ใช้เงินลงทุนตั้งต้นที่อาจจะยังสูงอยู่สักหน่อย
เพราะซื้อขายเหมือนหุ้น ซึ่งมีค่าคอม ขั้นต่ำ และ ETF บางตัวก็อาจมีราคาต่อหน่วยที่สูง รวมถึงค่าธรรมเนียมแลกเงินไปต่างประเทศที่แต่ละ บล. อาจมีอัตราที่แตกต่างกัน ถ้าคิดโดยสังเขป กระจายลงทุน ETF สัก 3-4 ตัว อาจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสน – 1 ล้าน น่าจะเหมาะสม หรือถ้ากระจายจัดพอร์ต อาจต้องมีขนาดสัก 1 – 3 ล้านบาท เป็นต้น
2.เลือก ETF ให้ดี ต้องมีสภาพคล่อง
ETF กว่า 7 พันตัวที่ส่วนใหญ่เทรดกันอยู่ในตลาด US นั้น ไม่ใช่ทุกตัว ที่มีการซื้อขายกันมากพอที่จะรองรับรายการขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นก่อนทำการลงทุนจึงต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ให้ดี รวมถึงบางตัวหากไม่มีผู้เล่น ไม่มีสภาพคล่องอาจทำให้มีการปิดตัวลง คล้ายๆกับการ Delist ของหุ้นได้เช่นกัน
3.ค่าใช้จ่ายบางทีอาจสูงกว่าที่เห็น
ค่าคอมมิชชั่นอาจไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเดียวที่เกิดขึ้นจากการลงทุนใน ETF ยังมีอีกส่วนคือ Expsense Ratio คือค่าบริการจัดการกองทุนภายใต้ ETF ตัวนั้น (บ้านเราคือ Management Fee) อัตราคิดเป็นต่อปี ดังนั้นนอกจากดูสภาพคล่อง Bid Ask Spread แล้วยังต้องดูค่าใช้จ่ายสองส่วนรวมกัน ให้ไม่สูงจนเกินไปอีกด้วย
4.เข้าใจกลไกลการลงทุนภายใต้ ETF ที่จะซื้อ
เครื่องมือใหม่ๆ มาพร้อมโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น แต่ย่อมมาพร้อมความซับซ้อนที่มากขึ้น (คิดว่าหลายท่านคงจำความหลอนจาก ตัวอักษรสามตัวเช่น CDO MBS … ได้อย่างดี) และความเสี่ยงมักเกิดจากการลงทุนบนความไม่รู้ของนักลงทุนนี้นั่นเอง ดังนั้นหากต้องการเปิดประตูบานนี้ ต้องพึงศึกษารายละเอียดของ ETF ให้ชัดเจนเสียก่อน
บทสรุป
สำหรับ นักลงทุน หรือมืออาชีพอย่างสายงาน Fund Manager หรือ Wealth Manger ผมมองว่าเป็นโอกาสฟ้าประทาน ที่เดิมทีเราอาจไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนที่สะท้อนมุมมองการลงทุนของเราได้ละเอียด คล่องตัวและต้นทุนต่ำเช่นนี้ได้มาก่อน มาวันนี้เราสามารถจัดสัดส่วนเงินลงทุนที่นอกจากเดิมทำด้วยพอร์ตกองทุนรวมแล้ว ยังสามารถใช้ ETF เป็นอีกเครื่องมือในการสร้างผลตอบแทนจากสภาวะการลงทุนทั่วโลกได้ด้วย “
You must be logged in to post a comment.